คลังบทความของบล็อก

ลักษณะของการสื่อสารมวลชน

       ลักษณะของการสื่อสารมวลชน



ความเจริญก้าวหน้าของการสื่อสารในปัจจุบัน ส่งผลให้มีสื่อ และวิธีการส่งข่าวสารไปสู่ ประชาชน เพิ่มขึ้นหลายรูปแบบ เช่น การใช้วิทยุสื่อสาร โทรสาร วิดีทัศน์ คอมพิวเตอร์ การสื่อสารผ่านดาวเทียม เป็นต้น ทำให้เกิดความสับสนว่า การสื่อสารในรูปแบบต่างๆ เหล่านั้น รูปแบบใดเป็นการสื่อสารมวลชน และรูปแบบใดไม่ใช่การสื่อสารมวลชน สื่อที่โดยทั่วไปถือว่าเป็นสื่อมวลชน ในบางสถานการณ์ก็ไม่ถือว่าเป็นการสื่อสารมวลชน เช่น การฉายภาพยนตร์ตามโรงภาพยนตร์ทั่วไป เป็นการสื่อสารมวลชน แต่การฉายภาพยนตร์สำหรับการเรียนการสอนตามโรงเรียน ไม่ถือว่าเป็นการสื่อสารมวลชน


       การพิจารณาว่าการสื่อสารรูปแบบใด เป็นการสื่อสารมวลหรือไม่ สามารถพิจารณาตัดสินได้จากลักษณะของการสื่อสารมวลชนต่อไปนี้ คือ


1. เป็นการสื่อสารกับมวลชน


ผู้รับสารในการสื่อสารมวลชน หมายถึงประชาชนทั่วไป ทุกเพศ ทุกวัย ทุกระดับการศึกษาอาชีพ ซึ่งเป็นมวลผู้รับขนาดใหญ่ มีความแตกต่างกัน และไม่เป็นที่รู้จักกันระหว่างผู้ส่งกับผู้รับ ครอบคลุมพื้นที่ไม่จำกัด ผู้รับข่าวสารไม่มีลักษณะที่กำหนดให้เฉพาะเจาะจงได้ว่า เป็นคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง นักศึกษาที่นั่งฟังการบรรยายอยู่ในหอประชุม แม้ว่าจะมีจำนวนมากเท่าใดก็ไม่ถือว่าเป็นมวลชน เพราะมีลักษณะเฉพาะว่าเป็นกลุ่มนักศึกษา ผู้ชมการแสดงดนตรีจำนวนมาก อาจกำหนดได้ว่าเป็น กลุ่มวัยรุ่น หรือกลุ่มผู้สนใจ การสื่อสารกับคนจำนวนมากที่ไม่ทราบกลุ่ม ความสนใจ และจำนวนที่แน่ชัด จึงเป็นการยากที่จะคาดคะเนปฏิกิริยาซึ่งอาจเกิดขึ้นจากมวลชนได้


2. สื่อสารโดยผ่านทางสื่อ


ข่าวสารทุกอย่างจะถูกส่งไปยังผู้รับ โดยผ่านทางสื่อหรือเครื่องมือสื่อสารที่มีลักษณะเป็นสื่อสาธารณะ คือเป็นการสื่อสารที่ไม่เป็นส่วนตัว และมีความรวดเร็ว เนื่องจากผู้รับสารในการสื่อสารมวลชน มีจำนวนมาก ปริมาณข่าวสารจึงมากตามไปด้วย จำเป็นต้องใช้เครื่องมือการผลิตที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพสูง กระบวนการผลิตจึงเป็นแบบ Mass Product และใช้สื่อตลอดจนวิธีการส่งข่าวสารที่สามารถส่งกระจายข่าวสารได้จำนวนมาก และรวดเร็วทันเวลา ซึ่งเรียกว่า Mass Media ตัวอย่างเช่น หนังสือพิมพ์ จะใช้ระบบการพิมพ์ทันสมัย มีเครื่องจักร ที่สามารถผลิตหนังสือพิมพ์ได้เป็นจำนวนแสน ในเวลาเพียงชั่วโมงเดียว วิทยุ โทรทัศน์ ใช้เครื่องมือผลิตรายการ และถ่ายทอดสัญญาณได้อย่างรวดเร็ว เผยแพร่ข่าวสารไปได้ทั่วโลก


3. ข่าวสารเนื้อหาหลากหลาย


เนื่องจากมวลชนผู้รับข่าวสารมีความหลากหลาย เนื้อหาสาระของข่าวสารจึงต้องจัดทำให้หลากหลาย ใช้ได้สำหรับคนทุกเพศ ทุกวัย ทุกระดับการศึกษา และอาชีพ จะเห็นได้จากในหนังสือพิมพ์แต่ละฉบับ นำเสนอเรื่องราวหลายประเภท สำหรับคนทุกกลุ่ม วิทยุ โทรทัศน์ ก็เช่นเดียวกัน ซึ่งได้จัดรายการต่างๆ โดยคำนึงถึงผู้ชมที่หลากหลาย ให้คนได้เลือกชมตามความสนใจ ลักษณะข่าวสารของสื่อมวลชนมีความไม่ยั่งยืน เหมือนสิ่งของที่ใช้หมดไป เพราะมีจุดประสงค์ที่จะให้รับข่าวสารทันที เมื่อเวลาผ่านไป ข่าวสารเก่าจะลดความสำคัญลงทันที และมีข่าวสารใหม่มาทดแทน


4. มีองค์กรหรือสถาบัน


       งานของสื่อมวลชน เป็นงานที่มีความซับช้อน ใช้บุคลาการจำนวนมาก และเกี่ยวข้องกับบุคคลภายนอกหลายฝ่าย จึงต้องมีองค์กรหรือหน่วยปฏิบัติงานที่เป็นระบบ การปฏิบัติตามบทบาทหน้าที่ของสื่อมวลชน เป็นสิ่งที่ต้องส่งผลกระทบต่อบุคคล และสังคมโดยส่วนรวมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การดำเนินกิจการสื่อสารมวลชน จึงเป็นเรื่องขององค์กร หรือสถาบันที่มีการควบคุม และรับผิดชอบผล ที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งบุคคลคนใดบุคคลหนึ่งไม่สามารถรับผิดชอบได้ เช่น หนังสือพิมพ์ มีบริษัทที่เป็นเจ้าของเป็นผู้ควบคุม ภายใต้กฏหมายที่เกี่ยวข้องกับหนังสือพิมพ์โดยการควลคุมดูแลของทางราชการ และยังมีกลุ่มสังคม สมาคม ควบคุมดูแลเกี่ยวกับ สิทธิ เสรีภาพ จริยธรรมหรือจรรยาบรรณของสื่อมวลชน


       จากการจัดประเภทสื่อมวลชน และลักษณะต่างๆ ของการสื่อสารมวลชนดังกล่าวข้างต้น จึงอาจสรุปได้ว่า การสื่อสารมวลชน เป็นการส่งข่าวสาร ความรู้สึกนึกคิดที่หลากหลาย จากองค์กรหรือสถาบันสื่อมวลชน ไปยังประชาชน โดยอาศัยเครื่องมือสื่อสารมวลชน สื่อที่ถือได้ว่า เป็นสื่อมวลชนที่สำคัญในปัจจุบัน ได้แก่ วิทยุกระจายเสียง โทรทัศน์ หนังสือ ภาพยนตร์ หนังสือพิมพ์ วารสาร นิตยสาร



ผู้ติดตาม